ความแตกต่างของBLU-RAY & HD-DVD

BLU-RAY & HD-DVD มาตรฐานใหม่ที่มาพร้อมกับคุณภาพความชัดเจนของภาพยนตร์ในสื่อบันทึกข้อมูลที่ดีมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นไปได้ด้วยความจุของแผ่นดิสก์ที่เพิ่มขึ้น มาตรฐานหลายๆ แบบของวิดีโอความละเอียดสูงประกอบไปด้วย 720p, 1080i และ 1080p สำหรับตัวอักษร p และ i นั้น ย่อมาจากคำว่า Progressive และ Interlaced กล่าวคือ สัญญาณภาพแบบ Progressive Scan จะให้ความชัดเจนของเนื้อภาพ ให้การเปลี่ยนผ่านของภาพในแต่ละเฟรมต่อเนื่องและเนียนมากกว่าสัญญาณภาพแบบ Interlaced ดังนั้นย่อมหมายความว่าสัญญาณภาพดังกล่าวดีกว่าเป็นไหนๆ ภาพยนตร์ที่ความละเอียด 1080p เป็นระดับความละเอียดสูงสุดของวิดีโอแบบ HD มีตัวเลขความละเอียดอยู่ที่ 1,920x1,080 พิกเซล ลองเอาไปเปรียบเทียบกับความละเอียดของจอภาพคอมพิวเตอร์ หรือความละเอียดของภาพยนตร์ดีวีดีมาตรฐาน (ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 720x576) และคุณก็คงจะพอเข้าใจแล้วว่า Blu-ray และ HD-DVD จะมาแทนที่ DVD แต่อย่าเพิ่งคิดว่ามาตรฐานเก่าจะหายวับไปในวันรุ่งขึ้น มันยังคงห่างไกลจากคำว่านิยม (และกำไร!) ทำให้ค่ายหนังใหญ่ๆ อาจยังมองข้ามมันไป
"แผ่น Blu-ray แบบ single-layer หนึ่งแผ่นมีความจุ 25GB แผ่น HD-DVD มีความจุ 15GB"
คุณสามารถจับรายละเอียดใส่ลงไปได้มากกว่าเพียงใด แน่นอนว่าคุณต้องมีชุดจอภาพโทรทัศน์ที่รองรับระบบวิดีโอความละเอียดสูง (HD Ready) เพราะว่าจอภาพ CRT และจอโทรทัศน์ทั่วไปไม่สามารถรองรับความละเอียดของภาพที่สูงขนาดนี้ได้
ความละเอียดที่เพิ่มมากขึ้นก็ย่อมหมายถึงขนาดของข้อมูลที่ใหญ่ตามไปด้วย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม HD-DVD และ Blu-ray ถึงถูกพัฒนาขึ้นมา แผ่น Blu-ray แบบ Single-layer สามารถเก็บข้อมูลได้ 25GB ในขณะที่แผ่น HD-DVD แบบ Single-layer สามารถเก็บข้อมูลได้ 15GB ในปีหน้า เราคาดหวังว่าจะได้เห็นแผ่น Blu-ray แบบ Quad-layer (สี่เลเยอร์) ซึ่งจะสามารถเก็บข้อมูลได้ถึง 100GB คงไม่ต้องอรรถาธิบายใดๆ มันหมายความถึงความสามารถในการเก็บข้อมูลจำนวนมาก มากกว่าแค่การเก็บภาพยนตร์สักเรื่อง ผู้ผลิตและค่ายหนังกำลังนึกถึงคุณสมบัติพิเศษ อาทิ เบื้องหลังอย่างละเอียดความยาวหลายชั่วโมงในทุกช็อตและทุกแง่มุมของการถ่ายทำภาพยนตร์ ผู้รับชมสามารถเข้าถึงตอนกลางของเรื่องได้ผ่านจากระบบเมนู และระบบโต้ตอบ Interactive แบบออนไลน์
ผลการทดสอบ Blu-ray
ดูกันว่าการใช้งานในทางปฏิบัติให้ผลอย่างไร...


ดูเหมือนว่าแผ่น Blu-ray จะใช้เวลาในการอ่านและเขียนน้อยกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับแผ่น DVD มาตรฐาน และแผ่นดิสก์แบบ Single-layer หนึ่งแผ่น สามารถจุข้อมูลได้มากกว่า HD-DVD ของคู่แข่งถึง 10GB มันยอดเยี่ยมมาก ไม่เพียงแค่ตอนนี้จะเป็นเวลาอันแสนศุภฤกษ์แก่การเปลี่ยนผลัดจากเทคโนโลยีดีวีดีตัวเก่า และจนกว่าที่เราจะได้ทดสอบมาตรฐาน HD-DVD ด้วยการทดสอบเดียวกัน คงจะขอบอกว่าเราเลือก Blu-ray เป็นตัวเลือกของเรา อย่างไรก็ตาม ราคาของไดรฟ์และแผ่นดิสก์ได้ลดลงจากระดับแพงมากที่สุดในโลกมาเป็นแพงปานกลาง เราขอบอกว่าใจเย็นๆ ก่อน อีกสักหนึ่งปีนับจากนี้ไป คุณจะได้อะไรมามากกว่านี้แน่นอน
จะทำให้คุณสามารถเลือกฉาก คลิกที่วัตถุ และเชื่อมต่อเข้าสู่โลกออนไลน์เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับช่วงนั้นของภาพยนตร์ ให้คุณสามารถเข้าถึงข้อมูลใหม่ล่าสุดได้ทันที

ในเบื้องหลัง
เรื่องราวทั้งหมดนั้นจะไม่มีปัญหาอะไรใดๆ ถ้าเป็นเครื่องเล่นแบบ Hi-definition อย่างเอกเทศ (ก็เจ้ากล่องที่วางอยู่ใต้จอทีวีไง) แต่ไดรฟ์ Blu-ray และไดรฟ์ HD-DVD สำหรับเครื่องพีซีก็เป็นอุปกรณ์มาตรฐานเพื่อการรับชมภาพยนตร์ในลักษณะดังกล่าว มันไม่ใช่แค่เรื่องสเป็กคอมเท่านั้น ทุกส่วนของเครื่องพีซีจำเป็นต้องรองรับกับระบบการเข้ารหัส HDCP ทั้งหมด (เรียกว่า HDCP Compliant) (ดูในกรอบ 'ทำไม DVD ถึงยังไม่ตาย') นั่นย่อมหมายถึงการอัพเกรดอุปกรณ์พีซีทุกอย่างใหม่เกือบทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพียงจอทีวีตัวใหม่เท่านั้น ดังนั้นค่าใช้จ่ายเพื่อการรับชมภาพยนตร์ความละเอียดสูงบนเครื่องพีซีจึงไม่ใช่น้อยเลย เราคาดหวังว่าจะได้เห็นผู้ผลิตโน้ตบุ๊คมัลติมีเดียได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยเหตุว่าเครื่องที่รองรับระบบ HDCP สามารถถูกผลิตได้เสร็จเลยจากโรงงาน เครื่องโน้ตบุ๊คที่มาพร้อมไดรฟ์ Blu-ray หรือ HD-DVD จะกลายมาเป็นนวัตกรรมใหม่ที่น่าสนใจสำหรับเราทุกคนที่ไม่ต้องการจะอัพเกรดอุปกรณ์ทุกชิ้นของเครื่องพีซี

ความละเอียดระดับสูง ความปลอดภัยระดับสูง
เพื่อให้ค่ายหนังในฮอลลีวูดยิ้มออก ระบบป้องกันการคัดลอกชั้นดีจึงต้องสถิตอยู่ในแผ่น HD-DVD และ Blu-ray
ทั้งมาตรฐาน HD-DVD และ Blu-ray ใช้ระบบ DRM ร่วมกัน ในรูปแบบที่ได้รับการออกแบบให้ปกป้องข้อมูลวิดีโอความละเอียดสูงโดยเฉพาะ มีชื่อว่า AACS (Advanced Access Content System) มันมาแทนที่ระบบ Content Scrambling System (CSS) แบบที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ใน DVD ซึ่งสามารถถูกเจาะได้แล้ว
ในขณะที่ CSS ใช้กลุ่มกุญแจถอดรหัส (Decryption key) แบบ 40 บิต ที่มีฝังอยู่ในเครื่องเล่นดีวีดีทุกรุ่น (ซึ่งเหมือนกันทุกเครื่อง) แต่ระบบ AACS ใช้กุญแจถอดรหัสเฉพาะที่ถูกฝังอยู่ในเครื่องแต่ละเครื่อง นั่นแปลว่าเครื่องเล่น HD-DVD หรือ Blu-ray ทุกเครื่องไม่ว่าจะเป็นชุดสำหรับห้องนั่งเล่นหรือไดรฟ์สำหรับเครื่องพีซี จะมาพร้อมกับกุญแจแบบ Advanced Encryption Standard (AES) ขนาด 128 บิต กุญแจดังกล่าวจะใช้สำหรับถอดรหัสความยาว 128 บิต ที่ไม่ซ้ำกับใครบนแผ่น HD แต่ละแผ่น (Media ID) ซึ่งจะใช้รหัสดังกล่าวปลดกุญแจรหัส Title Key ความยาว 128 บิตอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธ์ในการรับชม

มาตรการความปลอดภัย
ที่สำคัญ AACS มันเป็นอะไรที่มากกว่าระบบ CSS ที่ดีกว่าเดิม AACS สามารถเชื่อมต่อเข้ากับกุญแจเข้ารหัส (Encryption key) ของเครื่องเล่นได้ ดังนั้นเครื่องเล่นที่ได้รับการ 'แก้ไข' บางอย่าง อาจถูกสั่งหยุดหรือยกเลิกกุญแจรหัสที่อยู่ในเครื่องเล่นนั้นๆ ได้โดยสิ้นเชิง ทำให้เครื่องไม่สามารถเล่นไฟล์ได้อีกต่อไป AACS ยังรองรับกับระบบที่เราเรียกกันว่า Online Enabled Content ซึ่งเนื้อหาใดๆ ที่อยู่ในแผ่นดิสก์จะสามารถใช้งานได้ก็ต่อเมื่อได้รับคำสั่งอนุญาตจากเจ้าของเนื้อหานั้นๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

AACS ยังมีคุณสมบัติพิเศษอีกสองประการ ซึ่งก็คือ Streamed Content และ Mandatory Managed Copy สำหรับ Streamed Content ทำให้คุณสามารถเข้าถึงเนื้อหาแบบตามสั่ง (On-demand) ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ ตัวอย่างเช่น เบื้องหลังการผลิตหรือเสียงบรรยายในภาษาอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ระบบ Mandatory Managed Copy จะทำให้เจ้าของแผ่นดิสก์สามารถทำสำเนาเนื้อหานั้นๆ ไปยังสื่อบันทึกข้อมูลอื่นๆ ได้ ตัวอย่างเช่น เครื่องมิเดียเซิร์ฟเวอร์ภายในบ้าน หรืออุปกรณ์พกพา
ในขณะที่ระบบ HD-DVD และ Blu-ray ใช้ระบบการป้องกัน AACS แบบเดียวกัน มาตรฐาน Blu-ray จะมีมาตรการป้องกันแบบพิเศษเพิ่มเข้ามาอีก แผ่น BD+ เปิดโอกาสให้เจ้าของเนื้อหานั้นๆ สามารถอัพเดทระบบการป้องกันในเครื่องเล่น Blu-ray ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ในกรณีที่เครื่องเล่นนั้นได้รับการ 'แก้ไข' บางอย่าง (หรือในลักษณะการแพร่กระจาย ด้วยการฝังโค้ดตัวใหม่ลงในแผ่นดิสก์ล็อตใหม่) มันคล้ายๆ กับตัวเครื่องอัดของ Sky+ ที่ได้รับการพัฒนา และนั่นก็หมายความว่าถ้ามีใครสักคนทำเครื่องมือบางอย่างมาแอบคัดลอกแผ่น BD-ROM ตัวรหัสชุดใหม่สามารถถูกเข็นออกมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวได้ทันที
นอกเหนือจากนั้น แผ่น Blu-ray แต่ละแผ่นก็จะมี ROM Mark เป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นระบบเทคโนโลยี Watermark ที่สามารถถูกเพิ่มลงไปในแผ่นได้โดยผู้ผลิต BD-ROM ที่ได้รับอนุญาต และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการป้องกันการคัดลอกแผ่นดิสก์โดยไม่ได้รับอนุญาตและทำให้เครื่องเล่นเถื่อนทั้งหลายไม่สามารถใช้งานได้
มีเสียงพูดกันมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สตูดิโอผลิตหนังในฮอลลีวูดสามารถใส่เทคโนโลยี DRM เฉพาะตัวลงไปในแผ่น Blu-ray ได้ ตัวอย่างเช่น มีข่าวกันว่า 20th Century Fox ไม่ชอบใจระบบ Managed Copy สักเท่าไรนัก และพวกเขาอาจจะใส่โค้ดบางอย่าง (โดยจะถูกหยิบขึ้นมาใช้งานหลังจากการตรวจสอบ AACS, BD+ และ ROM Mark) เพื่อปิดคุณสมบัติดังกล่าว เห็นได้ชัดเลยว่าเทคโนโลยีแบบนี้ทำให้เจ้าของเนื้อหาสามารถควบคุมการใช้งานแผ่นดิสก์อันถูกลิขสิทธิ์ซึ่งผู้ซื้อถือครองอยู่ด้วยความถูกต้องทางกฎหมายได้อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แถมมันยังสามารถเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของคุณได้ถึงระดับฮาร์ดแวร์ ซึ่งก็เป็นหลักการอันง่ายแสนง่ายที่ใครหลายคนจะต่อต้าน DRM
ทั้ง Blu-ray และ HD-DVD ใช้ระบบการป้องกันแบบ ACCS อย่างเดียวกัน มีกุญแจรหัสความยาว 128บิต อยู่ทั้งบนตัวแผ่นดิสก์และเครื่องเล่น
เผื่อในกรณีที่ระบบเกิดเจ๊งขึ้นมา และทั้งหมดนี้ด้วยแผ่นดิสก์เพียงสามแผ่น คุณจะต้องแปลกใจกับความเร็วในการอ่านและเขียน (ลองดูรายละเอียดจากผลการทดสอบแผ่น Blu-ray ประกอบ) ที่มากไปกว่านั้น ไดรฟ์ Blu-ray ของ Samsung มาพร้อมกับการรองรับแผ่น CD และ DVD ด้วย ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องกินพื้นที่ช่องเสียบไดรฟ์ขนาด 5.25 นิ้ว ไปเปล่าๆ ถึงสองช่อง
ด้วยความทะนุถนอม

อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับแผ่นดิสก์เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่น Blu-ray เนื่องด้วยชั้นของข้อมูลในแผ่น Blu-ray อยู่ตื้นกว่าชั้นข้อมูลของแผ่น DVD ทั่วไปถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ในทางปฏิบัติแล้วหมายความว่า แผ่น Blu-ray นั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเนื่องจากรอยขีดข่วนบนแผ่นมากกว่าดิสก์แบบอื่นๆ รอยขีดข่วนเพียงแค่รอยเดียวอาจหมายถึงข้อมูลเสียหายโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่แค่ความผิดพลาดในการทำมุมสะท้อนแสงแสงเลเซอร์อันก่อให้เกิดความผิดพลาดของข้อมูลนิดๆ หน่อยๆ (หรือภาพแตกในกรณีของภาพยนตร์) อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีเคลือบแผ่นได้ถูกพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเทียบเคียงไปพร้อมๆ กับระบบอัลกอริทึมอันชาญฉลาดเพื่อแก้ไขข้อมูลที่ผิดพลาด ด้วยการดึงข้อมูลข้างๆ บริเวณที่เป็นรอยมาเติมช่องว่างข้อมูลที่หายไปนั้นได้ทันทีขณะใช้งาน ผลลัพธ์ของแผ่นดิสก์ที่ควรจะเป็นก็คือ เป็นรอยได้ยาก (บวกกับการเก็บแผ่นอย่างระมัดระวัง) และก็ต้องใช้งานได้แม้แผ่นจะเป็นรอยก็ตาม
มันยังเป็นช่วงเวลาเริ่มต้นของมาตรฐานเหล่านี้ ดังนั้นใครก็ตามที่ใช้งานมาตรฐานใหม่พวกนี้ก่อนย่อมเจอกับราคาอันหนักอึ้ง แต่คุณก็จะได้ภาพยนตร์ความละเอียดสูงและสื่อบันทึกข้อมูลขนาดใหญ่ แต่ราคาอันแสนแพงของสิ่งเหล่านี้อาจทำให้มันยังไม่เป็นที่นิยมมากนักและมันก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับทีวีหรือพีซีที่ดูเกินตัวไปสักหน่อย ในช่วงคริสต์มาส เราคงได้เห็นว่าราคาจะถูกมากขึ้น จนกว่าจะถึงเวลานั้น HD-DVD และ Blu-ray ก็ยังคงเป็นของเล่นราคาแพงต่อไป

ยอดเยี่ยมเป็นสองเท่า
ไดรฟ์หลายมาตรฐานกำลังอยู่ในขั้นตอนการผลิต
ไดรฟ์ Blu-ray ส่วนใหญ่จะสามารถใช้งานแผ่น DVD ปกติและแผ่น CD ได้อย่างไร้ปัญหาไม่ต่างจากแผ่น Blu-ray ความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยีเลเซอร์สีน้ำเงินและสีแดงได้พูดถึงกันไปไม่น้อยแล้ว ดังนั้นถ้าคุณปรายตามองไปภายในไดรฟ์เหล่านี้ คุณก็จะเห็นได้ว่ามีหัวเลนส์อ่านแผ่นอยู่สองตัว ตัวหนึ่งสำหรับเลเซอร์สีแดงและอีกตัวหนึ่งสำหรับเลเซอร์สีน้ำเงิน
และก้าวข้ามไปอีกขั้น เมื่อ Hewlett Packard ได้เปิดตัวไดรฟ์ลูกผสมที่สามารถใช้งานได้ทั้งแผ่น Blu-ray และ HD-DVD อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ค่อนข้างง่ายเพราะเป็นการปรับระยะโฟกัสและตำแหน่งแสงตกกระทบของหัวอ่านเลเซอร์สีน้ำเงิน ดังนั้นเลนส์หัวอ่านเพียงตัวเดียวก็เกินพอ อย่างไรก็ตาม ไดรฟ์ลูกผสมเป็นกรณีที่ค่อนข้างอ่อนไหว ผู้ผลิตหลายๆ รายยังไม่แสดงทีท่าใดๆ เกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าวเพราะว่าได้รับแรงกดดันจาก Toshiba (HD-DVD), Sony (Blu-ray) และคู่แข่งในตลาดรายอื่นๆ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องดีที่อย่างน้อยได้เห็นว่ามีบางบริษัทคิดถึงผู้บริโภคอย่างเราๆ กันบ้าง....
ทำไม DVD ยังไม่ตาย

HD-DVD และ Blu-ray จะไม่สามารถหยุดลมหายใจของ DVD ได้
มันเป็นเรื่องง่ายที่จะรื่นเริงเกาะกระแสไปกับการมาถึงของ HD-DVD และ Blu-ray แต่เราก็อยากจะเตือนให้คุณจดจำเอาไว้ว่าฟอร์แมตแบบใหม่นี้จะยังไม่โด่งดังด้วยเวลาเพียงข้ามวัน อันที่จริงแล้ว HD-DVD และ Blu-ray จะยังต้องเผชิญกับความตะกุกตะกักในตอนเริ่มต้น และบรรทัดข้างล่างนี้คือเหตุผลว่าทำไม...

1) HD-DVD ปะทะ BLU-RAY
ใครจะเป็นฝ่ายชนะ? การฝักใฝ่ฝ่ายใดค่อนข้างจะไม่แน่นอน ดูเหมือนวงการว่าจะเกาะ Blu-ray ในเดือนนี้ และเดี๋ยวก็เปลี่ยนใจไป HD-DVD ในเดือนหน้า ผู้ผลิตภาพยนตร์คงเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดได้ด้วยการเลือกใช้ฟอร์แมตทั้งสองแบบ และในขณะที่เราจะยังไม่ได้เห็นการผสมโรงเป็น HD-ray มีความเป็นไปได้สูงที่ HD-DVD และ Blu-ray จะยังคงยืนกันอยู่คนละฝั่ง ไม่ต่างอะไรไปจาก DVD-R, DVD+R และ DVD-RAM

2) ราคาแสนแพง
Toshiba ได้เปิดตัวเครื่องเล่น HD-DVD ล็อตแรกออกมาแล้วด้วยราคาประมาณ 499 - 799 เหรียญ (284 - 455 ปอนด์) ในขณะที่ Sony และ Samsung ได้เปรยๆ ไว้แล้วว่าอุปกรณ์สำหรับ Blu-ray จะมีราคาอยู่ที่ 1,000 - 1,800 เหรียญ (570 - 1,025 ปอนด์) สำหรับไดรฟ์ Blu-ray เพื่อใช้ในเครื่องพีซีจะมีราคาตั้งอยู่ที่ประมาณ 500 เหรียญ (286 ปอนด์) และแผ่นดิสก์เปล่าๆ แบบ Single-layer นั้นจะมีราคาประมาณ 25 เหรียญ (15 ปอนด์) ต่อแผ่น แต่ราคาที่สูงอย่างนี้ก็จะเริ่มลดลงเมื่อความแพร่หลายเพิ่มขึ้นในช่วงปี 2006 และ 2007

3) จอภาพแบบ HD และระบบ HDCP
ไม่เหมือนกับการเปลี่ยนแปลงจาก CD ไปเป็น DVD (หรือ VHS ไปเป็น DVD) ระบบ HD ต้องการการลงทุนที่มากไปกว่าแค่การซื้อไดรฟ์ HD-DVD หรือ Blu-ray ถ้าคุณกำลังจะซื้อเครื่องเล่นแบบ Hi-definition คุณก็จำเป็นต้องมีจอภาพแบบ Hi-definition เคียงคู่กันไปด้วย
เรารู้ว่านี่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อพูดถึงการรับชมในห้องนั่งเล่น คุณจำเป็นต้องมีชุดอุปกรณ์ที่พร้อมใช้กับระบบ HD ด้วยการรองรับมาตรฐาน HDMI หรือรองรับการเชื่อมต่อ DVI ที่รองรับระบบ HDCP ทางฝั่งฮอลลีวูดอยู่ไม่สุขสักเท่าไรเมื่อต้องส่งสัญญาณข้อมูลวิดีโอความละเอียดสูงผ่านไปยังการเชื่อมต่อที่ไม่ได้รับการป้องกัน (อย่างเช่น ผ่านสาย Component) ดังนั้นเครื่องเล่นทั้ง Blu-ray และ HD-DVD จะถูกบังคับให้ลดความละเอียดของสัญญาณแบบ HD ลงเป็นแบบธรรมดาถ้าคุณใช้การเชื่อมต่อแบบอนาล็อก
HDCP (High-bandwidth Digital Content Protection) เป็นระบบที่ขาดไม่ได้สำหรับการรับชมด้วย HD-DVD และ Blu-ray และสิ่งนี้จะทำให้เครื่องพีซีทุกเครื่องที่คุณซื้อในวันนี้ไม่สามารถรับชมภาพยนตร์แบบ HD ที่วางขายกันในร้านได้ ในขณะที่เรากำลังเขียนคอลัมน์นี้ มีการ์ดจออยู่เพียงแค่ตัวเดียวเท่านั้นที่รองรับระบบ HDCP อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะมีการ์ดอีกหลายๆ ตัวออกมาในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้า กระนั้น ในตอนนี้มีเพียงแค่ Sapphire X1600 Pro เท่านั้น ที่มาพร้อมกับช่องสัญญาณขาออกแบบ HDMI รองรับกับแผ่นดิสก์แบบ Hi-def อย่างครบถ้วนกระบวนความ
ไม่เพียงแค่คุณต้องใช้การ์ดจอที่รองรับกับ HDCP เท่านั้น ความต้องการของฮอลลีวูดคือการเข้ารหัสกับทุกอย่างในเครื่องพีซี ซึ่งนั่นแปลว่าระบบ HDCP จำเป็นต้องมีอยู่ในระบบทั้งสถาปัตยกรรม ตัวอย่างเช่น ในไดรฟ์ ในระบบปฏิบัติการ ในเมนบอร์ด ในการ์ดจอ และในจอภาพ พูดง่ายๆ ก็คือ หากปราศจาก HDCP คุณก็จะไม่สามารถรับชมภาพยนตร์บนเครื่องพีซีได้เลย อันที่จริงแล้ว มันก็ยังมีความเป็นไปได้ไม่มากนักในการทำระบบให้รองรับเมื่อ Vista ยังไม่ออกวางขายจริง
CREDIT :
eXTReMe Tracker